กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นกลุ่มเก่าที่สุด อพยพเข้ามา ตั้งหลักแหล่งในแถบอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดสกลนครกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวจะเป็นการอพยพจากบริเวณเขตจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคราม ยโสธร เข้ามาอาศัยอยู่ตามเขตพื้นที่ๆเป็นเนินสูง/ โน เป็นโคก และมีลุ่มน้ำไหลผ่าน เพื่อทำมาหากินกับการปลูกข้าวและหาอยู่หากินกับ ลุ่มแม่น้ำ ดังนั้น กลุ่มไทยลาวจึงกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งดังกล่าว ในทุกเขตอำเภอของสกลนครและผสมผสานกับกลุ่มญ้อ ผู้ไท กะเลิง โย้ย มากที่สุดในเขตอําเภอสว่างแดนดิน |
|
กลุ่มไท-ลาวได้รับอิทธิพลจากราชธานีเวียงจันทร์โบราณมีตัวอักษรไทยน้อย หรือตัวลาว อักษรธรรม หรือตัวขอม พูดภาษาไทย-ลาว (ภาษาอีสาน) เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน เช่น ฮีตสิบสอง และคองสิบสี่ ก่อเกิดการทำบุญตามเทศกาลในรอบปี ทำให้มีงานบุญพระเวส (พระเวสสันดร) บุญบั้งไฟ เป็นต้น และยังมีการสวดสรภัญญะเป็นการสวดหมู่ทำนองไพเราะ มีการไหว้ครูบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งที่ควรเคารพบูชา มีสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาในศาสนา การศรัทธาวัดพระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวงเป็นสถูปเจดีย์เพื่อการเคารพบูชา |
|
การแต่งกายนิยมผ้าฝ้าย หากเป็นงานพิธีการจะนิยมผ้าไหม ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นยาวปิดเข่าตกแต่งชายผ้าซิ่น เรียกว่า ตีนซิ่น ห่มสไบทับหรือผ้าเบี่ยง ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกง ภาษาถิ่นเรียก “โซ่ง” เสื้อคอกลมผ้าหน้าติดกระดุม นิยมผ้าขาวม้าคาดเอว |
|
อาหารของชาวไทยลาว จะรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารของชาวไทยลาว คือ อาหารเครื่องจิ้ม เช่น แจ่วบอง ป่นนานาชนิด เช่น ป่นเขียด ป่นกบ ป่นปลา เป็นต้น ในงานเทศกาลสำคัญของชาวไทยลาวจะมีอาหารพิเศษ เช่น ลาบหมู ลาบไก่ ลาบปลา ลาบวัว ก้อยกุ้ง ก้อยเนื้อ ก้อยหอย เนื้อวัว – เนื้อควายย่าง แกงต่าง ๆ ของชาวไทยลาวจึงเรียกว่า อ่อม ส่วนอาหารหลักประจำวันคือส้มตำมะละกอ |
|