Site icon สกลนครไกด์.คอม

ชีวประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ชีวประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

 

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เดิมชื่อ เด็กชาย มั่น แก่นแก้ว บิดามารดาชื่อ นายคำด้วง-นางจันทร์ แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในตระกูลชาวนา บิดามารดานับถือศาสนาพุทธ มีพี่น้องทั้งหมด ๙ คน ได้เข้าบวชเณรตอนอายุ ๑๕ ปี และสึกออกมาตามคำขอของบิดาตอนอายุ ๑๗ ปีเพื่อช่วยงานทางบ้าน ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ฉายาว่า “ภูริทตฺโต” หลังอุปสมบทท่านได้ศึกษาในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน (ธรรมยุต)กับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นท่านได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดปทุมวนาราม และได้ศึกษาอบรมกับท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)พ วัดบรมนิวาส หลังจากนั้นท่านได้ออกฝึกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” ด้วยองค์ท่านเองตามลำพัง โดยธุดงค์ไปตามสถานที่ที่เป็นป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน บางครั้งท่านก็ธุดงค์ไปยังประเทศพม่า ลาว หลวงพระบางเป็นต้น ซึ่งในระหว่างธุดงค์ไปนั้น ก็มีคณะศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติขององค์ท่านได้ติดตามไปแบบห่างๆด้วย จนต่อมาพระสงฆ์เหล่านั้นได้เจริญงอกงามในธรรม จนกลายเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญๆในเมืองไทย เป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์และประชาชนชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากมาย

องค์ท่านได้อาศัยอยู่ตามป่าตามเขาตลอด ๕๗ ปีของการบรรพชา ในช่วงระยะ ๕ ปีที่ย่างเข้าวัยชรา จึงได้พำนักเป็นหลักแหล่ง ณ วัดป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งช่วงนั้นท่านได้สั่งสอนอบรมศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงล่ำลือไปทั่วมีประชาชนนับถือทั่วประเทศ จนกระทั่งท่านอาพาธหนักเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ และท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒ : ๒๓ น. และคณะศิษย์ได้ร่วมจัดงานประชุมเพลิงท่าน ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที ๓๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี

กาลานุกรมชีวประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
(พ.ศ. ๒๔๑๓ – พ.ศ. ๒๔๙๒)

เนื่องด้วยพระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานสมัยที่ความเจริญของบ้านเมืองยังมีไม่มาก ป่าเขายังอุดมสมบูรณ์ องค์ท่านถือเป็นแบบอย่างอันดีของลูกหลานในเรื่องการจรธุดงค์ไปตามป่าเขา ไม่ติดถิ่นที่อยู่อาศัยและไปองค์เดียว ดังนั้น สถานที่ต่างๆที่องค์ท่านธุดงค์ไปพักจำพรรษา จึงต้องอาศัยรวบรวมจากครูบาอาจารย์ผู้รู้หลายๆองค์ และจากพยานบุคคลและจากตำราหลายๆเล่มที่จดจารึกไว้ ดังนั้นอาจมีความเคลื่อนไปบ้าง แต่เท่าที่มีบันทึกไว้ สามารถรวบรวมมาได้ดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๑๓ กำเนิด ณ บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๒๘ บวชเป็นสามเณรตอนอายุ ๑๕ ปี ณ วัดบ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๓๖ บวชพระภิกษุ ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี และธุดงค์ไปทางลาวกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
พ.ศ. ๒๔๔๔ กลับมาไทยทางวัดพระธาตุพนม
พ.ศ. ๒๔๔๕ ธุดงค์ไปทางพม่า พระธาตุชเวดากองกับเจ้าคุณเทพมงคลปัญญาจารย์
พ.ศ. ๒๔๔๗ เกิดสุบินนิมิต ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๕๕ ธุดงค์แถวถ้ำไผ่ขวาง ถ้ำสาลิกา
พ.ศ. ๒๔๕๗ เรียนพระปริยัติและจำพรรษา ณ วัดสระปทุม กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๔๕๘ จำพรรษา ณ วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๔๕๙ จำพรรษาที่ภูผากูด อ.คำชะอี จ.นครพนม(ปัจจุบันคือ จ.มุกดาหาร)
พ.ศ. ๒๔๖๐ จำพรรษาที่บ้านดงปอ ห้วยหลวง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๑ จำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง จ.เลย
พ.ศ. ๒๔๖๒ จำพรรษาที่บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๓ จำพรรษาที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
พ.ศ. ๒๔๖๔ จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อ.มุกดาหาร จ.นครพนม(สมัยนั้น)
พ.ศ. ๒๔๖๕ จำพรรษาที่ ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๖๖ จำพรรษาที่วัดมหาชัย อ.หนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู
พ.ศ. ๒๔๖๗ จำพรรษาที่บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษาที่ อ.ท่าบ่อ จ.อุดรธานี (วัดอรัญญวาสีในปัจจุบัน)
พ.ศ. ๒๔๖๙ จำพรรษาที่บ้านสามผง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
พ.ศ. ๒๔๗๐ จำพรรษาที่บ้านหนองขอน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ
พ.ศ. ๒๔๗๑ จำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม (หรือวัดสระปทุม) กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๔๗๒ จำพรรษาถ้ำเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๗๓ จำพรรษาที่ดอยจอมแตง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๗๔ จำพรรษาที่บ้านโป่ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๗๕ จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ออกพรรษาแล้ว ออกธุดงค์ไปทาง จ.เชียงราย
พ.ศ. ๒๔๗๗ จำพรรษาที่ป่าเมียง ดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๗๙ จำพรรษาที่บ้านมูเซอ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
พ.ศ. ๒๔๘๐ จำพรรษาที่พระธาตุจอมแจ้ง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
พ.ศ. ๒๔๘๑ พำนักที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๘๒ จำพรรษาที่บ้านแม่กอย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ วัดป่าอาจารย์มั่น) ออกพรรษาแล้ว เจ้าคุณจูม พันธุโล เดินทางมากราบนิมนต์ท่านกลับอีสาน
พ.ศ. ๒๔๘๓ จำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๘๕ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิสุทธิธรรม)
พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (ปัจจุบัน คือ วัดป่านาคนิมิตต์)
พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิสุทธิธรรม)
พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษาที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร (ปัจจุบันคือ วัดป่าภูริทัตตถิราวาท) องค์ท่านจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา ๔ ปี จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๙๒ หลังออกพรรษาคณะศิษยานุศิษย์ได้นำท่านไปพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร และได้มรณภาพลงที่วัดดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. รวมอายุได้ ๘๐ ปี ๕๘ พรรษา

ขอบคุณข้อมูลจาก :: http://www.luangpumun.dra.go.th

Exit mobile version