ศาลเจ้าปู่ตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน

ศาลเจ้าปู่ตาเปรียบเสมือนศาลหลักบ้านประจำหมู่บ้านเสียว เป็นที่เคารพสักการะนับถือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านตำบลเสียวยังไม่ละทิ้งประเพณีความเชื่อนี้ และยังสืบทอดกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ที่มาคำว่าปู่ตาที่ชาวบ้านตำบลเสียวขนานนาม หมายถึง บรรพชนของชาวอีสานในสมัยโบราณ คำว่า ปู่ หมายถึง ปู่และย่า ที่เป็นพ่อแม่ของพ่อ ส่วนคำว่า ตา หมายถึง ตาและยายที่เป็นพ่อแม่ของแม่ เมื่อบรรพบุรุษสองสายนี้ล่วงลับไปหลายชั่วอายุคน จนไม่สามารถที่จะจำชื่อได้ ลูกหลานรุ่นหลัง ๆ จึงเรียนเป็นกลาง ๆ ว่า ปู่ตา การเลี้ยงปู่ตา เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปเพราะเมื่อปู่ตามีชีวิตอยู่นั้น ได้สร้างคุณงานความดีไว้กับลูกหลาน และสังคมมากมายหลายประการ เช่น ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี สะสมสาธารณสมบัติไว้เพื่อลูกหลาน เพื่อแสดงถึงกตัญญูกตเวที จึงมีการเลี้ยงปู่ตาสืบต่อไปเป็นประเพณี

ประเพณีการเลี้ยงปู่ตาจะกระทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน กำหนดเวลาเลี้ยงปู่ตามักจะทำระหว่างเดือน 3 และเดือน 6 ชาวบ้านจะเลี้ยงปู่ตาก่อนที่จะเลี้ยงตาแฮก สถานที่เลี้ยงปู่ตาก็คือ “คอนปู่ตา” อันเป็นสถานที่ปู่ตาสิงสถิตย์อยู่ ชาวบ้านตำบลเสียวเลือกป่าไม้ หลังโรงเรียนอนุบาลเบญจลักษ์ เป็นที่ปลูกหอหรือโฮงให้ปู่ตาอยู่ ภายในหอปู่ตานั้น จะประกอบด้วยรูปปั้นปู่ตา แท่นบูชา ข้าทาสชายหญิง รูปปั้นช้าง ม้า วัว ควาย หอก พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ผู้ที่ดูแลรักษาหอปู่ตาเรียกว่า ” เจ้าปู่ ” นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตาให้เรียบร้อยเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีหน้าที่ เป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้าน เจ้าปู่จึงคล้ายกับทหารคนสนิทของปู่ตา ใครทำอะไรผิดประเพณี ปู่ตาโกรธก็จะบอกผ่านเจ้าปู่ไปยังบุคคลที่กระทำผิด ปู่ตาต้องการให้ชาวบ้านปฏิบัติอย่างไร ก็จะบอกผ่าเจ้าปู่ไป ชาวบ้านจะติดต่อกับปู่ตาโดนตรงไม่ได้ “ดอนปู่ตา” นั้น จะเป็นบริเวณป่าสงวนที่ชาวบ้านเคารพเกรงกลัวมาก ใครจะไปตัดโค่นต้นไม้ ยิงสัตว์ในเขตดอนปู่ตาไม่ได้ ท่านจะโกรธเพราะถือว่าล่วงเกินบริวารท่าน ปู่ตาจะบันดาลให้ผู้ที่ล่วงเกินมีอันเป็นไป เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ประกอบการงานไร้ผล ดังนั้น การที่ชาวบ้านเคารพปู่ตา จึงเป็นการอนุรักษ์ป่า และอนุรักษ์สัตว์ ในเขตดอนปู่ตาได้เป็นอย่างดี พิธีเลี้ยงปู่ตา ในระหว่างเดือน 3 และ เดือน 6 เจ้าปู่จะเป็นผู้กำหนดเอาวันใดวันหนึ่ง ในช่วงนี้เป็นวันเลี้ยงปู่ตา เมื่อกำหนดวันได้แล้ว เจ้าปู่ก็จะบอกชาวบ้านให้ตระเตรียมอาหารคาวหวานมาเลี้ยงปู่ตา พร้อมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านสะเดาะเคราะห์ร้ายของครอบครัวตนเองไปให้พ้นด้วย พิธีสะเดาะเคราะห์นั้นทำได้โดยมีเครื่องสงเคราะห์ ซึ่งก็คืออาหารหวานคาวบรรจุลงในกระทงกาบกล้วยรูปสามเหลี่ยม วิธีทำกระทงกาบกล้วยให้มีรูปร่างตามที่ต้องการ ทำได้โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครง ภายในกระทงจะคั่นให้เป็นช่อง ๙ ช่อง แต่ละช่องจะบรรจุ หมาก ๑ คำ บุหรี่ ๑ มวน เมี่ยง ๑ คำ ขนมต้ม ๑ ชิ้น ข้าวดำ ข้าวแดงอย่างละก้อน กระทงรูปสามเหลี่ยมจะเป็นเครื่องส่งเคราะห์ร้ายของครอบครัวไปให้พ้น เครื่องเซ่นปู่ตา ได้แก่ น้ำหอม ดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าโรง ไก่ต้ม ไข่ต้ม เมื่อถึงวันเลี้ยงปู่ตา ในตอนเช้าชาวบ้านจะร่วมกันบูรณะดอนปู่ตาให้เป็นระเบียบ เช่น ช่วยกันถางหญ้า จัดแท่นบูชา เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม หรืออาจจะซ่อมแซมหอปู่ตาให้ดีกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนเสามุงสังกะสีใหม่ เป็นต้น เมื่อจะเริ่มพิธีเลี้ยงปู่ตา เฒ่าจ้ำก็จะนำเครื่องเซ่นและกระทงสงเคราะห์วางบนแท่นบูชา เสร็จแล้วเฒ่าจ้ำจะแบ่งอาหารที่ชาวบ้านนำไปเซ่นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้ลูกหลานเอากลับไปบ้าน อีกส่วนหนึ่งมอบให้ปู่ตา หลังจากเซ่นปู่ตาเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำน้ำหอมที่บูชาปู่ตามาสาดกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ปู่ตาประทานความร่มเย็นมาให้แล้ว