พระธาตุนารายณ์เจงเวงหรือปราสาทนารายณ์เจงเวง หรือในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ว่า “อรดีมายานารายณ์เจงเวง” โดยตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงโบราณสถานแห่งนี้ว่า สร้างโดยกลุ่มสตรีของพระนางนาเวงแห่งเมืองหนองหานหลวง แข่งขันกลุ่มสุภาพบุรุษชาวเมืองหนองหานน้อย เพื่อรอรับพระพระมหากัสสปะเถระ ซึ่งนำพระอุรังคธาตุไปบรรจุยังดอยภูกำพร้า โดยตกลงกันว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถสร้างพระธาตุเจดีย์ใหญ่เสร็จก่อนดาวเพ็กขึ้นแล้ว ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเริ่มก่อพระเจดีย์นั้น ฝ่ายสตรีได้รับคำสบประมาทท้าทายจากฝ่ายชายมาก แต่ก็ไม่วิตกกล่าวคืนฝ่ายชายว่าไม่มีผู้ใดเก่งเท่านารายณ์ ๔ กร และเมื่อได้เวลาก่อเจดีย์ใหญ่ ฝ่ายหญิงได้ไปชักชวนฝ่ายชายให้ทิ้งงานและทำโคมไฟแขวนขึ้นเหนือยอดไม้ชักชวนให้เพื่อนๆ ที่ก่อเจดีย์ใหญ่ทิ้งงาน เพราะดาวเพ็กขึ้นแล้ว จึงเป็นอันว่าฝ่ายหญิงของพระนารายณ์เจงเวงได้ชัยชนะ เพราะกลอุบายของฝ่ายหญิง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เรียกชื่อโบราณสถานทั้งสองแห่งตามที่มาของการก่อสร้างว่า อรดีมายานารายณ์เจงเวง และดอยแท่นภูเพ็กมุสา
ตำนานอุรังคธาตุนิทานยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพระมหากัสสปเถระและคณะบริวารเดินทางมาถึงเมืองหนองหานหลวง เมื่อสตรีชาวเมืองหนองหานทูลขอแบ่งอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาเถระผู้ใหญ่มิได้ทรงอนุญาตด้วยผิดวัตถุประสงค์ที่พระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ให้นำอุรังคธาตุไปประดิษฐานบรรจุเจดีย์ที่ภูกำพร้า กลางลำน้ำโขง (ธาตุพนมปัจจุบัน) แต่มิให้เสียศรัทธา พระมหากัสสัปะเถระผู้ใหญ่จึงมอบให้พระอรหันต์รูปหนึ่งไปนำเถ้าอังคารจากที่ถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์กลุ่มสตรีเมืองหนองหานหลวงแห่งนี้ จึงนับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสกลนคร