ชีวประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เดิมชื่อ เด็กชาย มั่น แก่นแก้ว บิดามารดาชื่อ นายคำด้วง-นางจันทร์ แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในตระกูลชาวนา บิดามารดานับถือศาสนาพุทธ มีพี่น้องทั้งหมด ๙ คน ได้เข้าบวชเณรตอนอายุ ๑๕ ปี และสึกออกมาตามคำขอของบิดาตอนอายุ ๑๗ ปีเพื่อช่วยงานทางบ้าน ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ฉายาว่า “ภูริทตฺโต” หลังอุปสมบทท่านได้ศึกษาในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน (ธรรมยุต)กับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นท่านได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดปทุมวนาราม และได้ศึกษาอบรมกับท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)พ วัดบรมนิวาส หลังจากนั้นท่านได้ออกฝึกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” ด้วยองค์ท่านเองตามลำพัง โดยธุดงค์ไปตามสถานที่ที่เป็นป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน บางครั้งท่านก็ธุดงค์ไปยังประเทศพม่า ลาว หลวงพระบางเป็นต้น ซึ่งในระหว่างธุดงค์ไปนั้น ก็มีคณะศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติขององค์ท่านได้ติดตามไปแบบห่างๆด้วย จนต่อมาพระสงฆ์เหล่านั้นได้เจริญงอกงามในธรรม จนกลายเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญๆในเมืองไทย เป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์และประชาชนชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากมาย
องค์ท่านได้อาศัยอยู่ตามป่าตามเขาตลอด ๕๗ ปีของการบรรพชา ในช่วงระยะ ๕ ปีที่ย่างเข้าวัยชรา จึงได้พำนักเป็นหลักแหล่ง ณ วัดป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งช่วงนั้นท่านได้สั่งสอนอบรมศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงล่ำลือไปทั่วมีประชาชนนับถือทั่วประเทศ จนกระทั่งท่านอาพาธหนักเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ และท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒ : ๒๓ น. และคณะศิษย์ได้ร่วมจัดงานประชุมเพลิงท่าน ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที ๓๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี
กาลานุกรมชีวประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
(พ.ศ. ๒๔๑๓ – พ.ศ. ๒๔๙๒)
เนื่องด้วยพระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานสมัยที่ความเจริญของบ้านเมืองยังมีไม่มาก ป่าเขายังอุดมสมบูรณ์ องค์ท่านถือเป็นแบบอย่างอันดีของลูกหลานในเรื่องการจรธุดงค์ไปตามป่าเขา ไม่ติดถิ่นที่อยู่อาศัยและไปองค์เดียว ดังนั้น สถานที่ต่างๆที่องค์ท่านธุดงค์ไปพักจำพรรษา จึงต้องอาศัยรวบรวมจากครูบาอาจารย์ผู้รู้หลายๆองค์ และจากพยานบุคคลและจากตำราหลายๆเล่มที่จดจารึกไว้ ดังนั้นอาจมีความเคลื่อนไปบ้าง แต่เท่าที่มีบันทึกไว้ สามารถรวบรวมมาได้ดังต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๔๑๓ | กำเนิด ณ บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี |
พ.ศ. ๒๔๒๘ | บวชเป็นสามเณรตอนอายุ ๑๕ ปี ณ วัดบ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี |
พ.ศ. ๒๔๓๖ | บวชพระภิกษุ ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี และธุดงค์ไปทางลาวกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล |
พ.ศ. ๒๔๔๔ | กลับมาไทยทางวัดพระธาตุพนม |
พ.ศ. ๒๔๔๕ | ธุดงค์ไปทางพม่า พระธาตุชเวดากองกับเจ้าคุณเทพมงคลปัญญาจารย์ |
พ.ศ. ๒๔๔๗ | เกิดสุบินนิมิต ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี |
พ.ศ. ๒๔๕๕ | ธุดงค์แถวถ้ำไผ่ขวาง ถ้ำสาลิกา |
พ.ศ. ๒๔๕๗ | เรียนพระปริยัติและจำพรรษา ณ วัดสระปทุม กรุงเทพฯ |
พ.ศ. ๒๔๕๘ | จำพรรษา ณ วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี |
พ.ศ. ๒๔๕๙ | จำพรรษาที่ภูผากูด อ.คำชะอี จ.นครพนม(ปัจจุบันคือ จ.มุกดาหาร) |
พ.ศ. ๒๔๖๐ | จำพรรษาที่บ้านดงปอ ห้วยหลวง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี |
พ.ศ. ๒๔๖๑ | จำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง จ.เลย |
พ.ศ. ๒๔๖๒ | จำพรรษาที่บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี |
พ.ศ. ๒๔๖๓ | จำพรรษาที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย |
พ.ศ. ๒๔๖๔ | จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อ.มุกดาหาร จ.นครพนม(สมัยนั้น) |
พ.ศ. ๒๔๖๕ | จำพรรษาที่ ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร |
พ.ศ. ๒๔๖๖ | จำพรรษาที่วัดมหาชัย อ.หนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู |
พ.ศ. ๒๔๖๗ | จำพรรษาที่บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี |
พ.ศ. ๒๔๖๘ | จำพรรษาที่ อ.ท่าบ่อ จ.อุดรธานี (วัดอรัญญวาสีในปัจจุบัน) |
พ.ศ. ๒๔๖๙ | จำพรรษาที่บ้านสามผง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม |
พ.ศ. ๒๔๗๐ | จำพรรษาที่บ้านหนองขอน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ |
พ.ศ. ๒๔๗๑ | จำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม (หรือวัดสระปทุม) กรุงเทพฯ |
พ.ศ. ๒๔๗๒ | จำพรรษาถ้ำเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ |
พ.ศ. ๒๔๗๓ | จำพรรษาที่ดอยจอมแตง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ |
พ.ศ. ๒๔๗๔ | จำพรรษาที่บ้านโป่ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ |
พ.ศ. ๒๔๗๕ | จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ออกพรรษาแล้ว ออกธุดงค์ไปทาง จ.เชียงราย |
พ.ศ. ๒๔๗๗ | จำพรรษาที่ป่าเมียง ดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ |
พ.ศ. ๒๔๗๙ | จำพรรษาที่บ้านมูเซอ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย |
พ.ศ. ๒๔๘๐ | จำพรรษาที่พระธาตุจอมแจ้ง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย |
พ.ศ. ๒๔๘๑ | พำนักที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ |
พ.ศ. ๒๔๘๒ | จำพรรษาที่บ้านแม่กอย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ วัดป่าอาจารย์มั่น) ออกพรรษาแล้ว เจ้าคุณจูม พันธุโล เดินทางมากราบนิมนต์ท่านกลับอีสาน |
พ.ศ. ๒๔๘๓ | จำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อ.เมือง จ.อุดรธานี |
พ.ศ. ๒๔๘๔ | จำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อ.เมือง จ.อุดรธานี |
พ.ศ. ๒๔๘๕ | จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิสุทธิธรรม) |
พ.ศ. ๒๔๘๖ | จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (ปัจจุบัน คือ วัดป่านาคนิมิตต์) |
พ.ศ. ๒๔๘๗ | จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิสุทธิธรรม) |
พ.ศ. ๒๔๘๘ | จำพรรษาที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร (ปัจจุบันคือ วัดป่าภูริทัตตถิราวาท) องค์ท่านจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา ๔ ปี จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๙๒ หลังออกพรรษาคณะศิษยานุศิษย์ได้นำท่านไปพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร และได้มรณภาพลงที่วัดดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. รวมอายุได้ ๘๐ ปี ๕๘ พรรษา |
ขอบคุณข้อมูลจาก :: http://www.luangpumun.dra.go.th